ประวัติความเป็นมาของฉลากประหยัดไฟ

เวลาที่เราต้องการจะเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาใช้ในบ้านสักชิ้นหนึ่ง เราต้องดูจากปัจจัยหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ราคา รูปลักษณ์ ความคุ้มค่า ยี่ห้อ และอีกหนึ่งปัจจัยที่ขาดไปไม่ได้เลยนั่นก็คือ ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 โดยถ้าเราเห็นฉลากนี้แปะอยู่บนเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดไหนเป็นอันรู้กันว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนี้สามารถช่วยเราประหยัดไฟในระยะยาวได้ นั่นเอง แต่หลายๆคนก็ยังไม่เคยทราบว่าฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 นี้ถือกำเนิดขึ้นมาได้ยังไง วันนี้เราเลยนำเรื่องราวน่ารู้สนุกๆ มาฝากคุณผู้อ่านกันค่ะ

ประวัติความเป็นมาของฉลากประหยัดไฟ

จากการขยายตัวของสังคม รวมทั้งการเจริญเติบโตทางด้านของเศรษฐกิจของไทย ได้ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้ กฟผ. จำเป็นต้องขยายแหล่งผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น ทั้งนี้ต้องมีการใช้เงินในการค้นหาแหล่งผลิต  , ทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้า  , การหาเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้เงินลงทุนสูงทั้งสิ้น  เพราะฉะนั้น กฟผ.จึงได้ดำเนินการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้ได้เปิดตัว ในวันที่ 20 กันยายน 2536 ภายใต้โครงการ ประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า พร้อมกับได้ดำเนินการโครงการ ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 นับตั้งแต่นั้นมา

จากวันนั้นสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กฟผ. ก็ยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยการประสานแนวทางปฏิบัติให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน เพื่อดูแลงานฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5

  • เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างตระหนักรู้ถึงคุณค่า อย่างมีประสิทธิภาพ
  • รณรงค์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้า ผลิตและนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งมีประสิทธิภาพดี มีราคาเหมาะสม
  • เสริมสร้างการประหยัดไฟฟ้าให้แก่ประชาชน มีการให้ความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างถูกวิธีและทรงประสิทธิภาพมากที่สุด
  • เสนอทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูง แถมช่วยประหยัดเงินในระยะยาว
  • สนับสนุนเทคโนโลยีการประหยัดไฟฟ้า
  • บริหารการใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี เพื่อนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 การดำเนินงานของ กฟผ.

เพื่อให้การดำเนินโครงการนี้ สามารถบรรลุผลอย่างลุล่วง ในการลดการใช้พลังงานองค์รวมของชาติ รวมทั้งช่วยลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกฝ่าย เพราะฉะนั้น กฟผ. จึงใช้แนวทางในการดำเนินโครงการ โดยใช้วิธีจูงใจ สร้างการรับรู้  ทำความเข้าใจที่ถูกต้อง แก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยมีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามประเภทของผู้ใช้  คือ กลุ่มที่อยู่อาศัย ,  กลุ่มธุรกิจ , กลุ่มอุตสาหกรรม จากการใช้กลยุทธ์ท  “3 อ.”  คือ อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า , อาคารประหยัดไฟฟ้า , อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า